บทความวิจัย : ความเสี่ยงของการเป็นโรคสะเก็ดเงินกับค่าดัชนีมวลกาย
ค่า BMI ที่สูงขึ้นมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงในการเป็นสะเก็ดเงินโดยไม่ขึ้นอยู่กับ อายุ เพศ เชื้อชาติ พฤติกรรมการสูบบุหรี่ และโรคที่เกิดขึ้นร่วมกันอื่นๆ
งานศึกษาต่างๆ ก่อนหน้านั้นได้มีการบรรยายถึงความสัมพันธ์ระหว่างโรคสะเก็ดเงินกับโรคอ้วน แต่อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างโรคสะเก็ดเงินกับค่าดัชนีมวลกายก็ยังคงมีความจำกัดอยู่ ทั้งนี้ การวิเคราะห์ข้อมูลย้อนหลังจากตัวแทนของผู้ป่วยกลุ่มใหญ่ที่กำลังต้องการเข้าหาบริการด้าน healthcare ในประเทศสหรัฐอเมริกากลับแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่เห็นได้อย่างชัดเจนระหว่างค่า BMI กับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในการเป็นโรคสะเก็ดเงิน โดยที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับอายุ เพศ เชื้อชาติ และพฤติกรรมการสูบบุหรี่แต่อย่างใด
เมื่อทำการเปรียบเทียบกับผู้ป่วยที่มีน้ำหนักตัวปกติหรือมีน้ำหนักตัวน้อยซึ่งมีค่า BMI น้อยกว่า 25.0 พบว่าผู้ป่วยที่มีน้ำหนักเกิน (ค่า BMI ระหว่าง 25.0-29.99) ผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มเป็นโรคอ้วนแบบ class 1 (ค่า BMI ระหว่าง 30.0-34.99) หรือในกลุ่มโรคอ้วนแบบ class 2/3 (ค่า BMI >35.0) นั้นมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคสะเก็ดเงินเพิ่มสูงขึ้นด้วยอัตราส่วนความเสี่ยงอันตราย (hazard ratios) ที่ทำการปรับแล้วที่ 1.19, 1.34, และ 1.83 ตามลำดับ โดยเมื่อทางกลุ่มผู้ทำการวิจัยได้เพิ่มการจำแนกค่า BMI แบบที่ 5 เข้ามาด้วย อันได้แก่ กลุ่มโรคอ้วนแบบ class 3 (ค่า BMI >40.0) จึงได้พบว่าความเสี่ยงในการเป็นโรคสะเก็ดเงินนั้นมีเพิ่มสูงขึ้นถึง 2.07 เท่าเมื่อเทียบกับกลุ่มที่มี BMI <25
Amit Garg, MD จาก Donald and Barbara Zucker School of Medicine ใน New York และเพื่อนร่วมงานได้เขียนไว้ในงานศึกษาของพวกเขาว่า “เทียบกับผู้ป่วยที่มีน้ำหนักตัวปกติหรือน้ำหนักน้อยแล้ว เราพบความเสี่ยงในการเป็นโรคสะเก็ดเงินที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 19%, 43%, และ 83% ในผู้ป่วยที่มีน้ำหนักเกิน ผู้ป่วยที่เป็นโรคอ้วนใน class 1 และ ใน class 2/3 ตามลำดับ” รวมทั้ง “เมื่อมีการพิจารณาค่า BMI ในฐานะที่เป็นตัวแปรต่อเนื่อง พบว่าการเพิ่มขึ้นแบบ 5 หน่วยของ BMI นั้นมีความสัมพันธ์กันกับความเสี่ยงในการเป็นโรคสะเก็ดเงินที่เพิ่มสูงขึ้น 17% (HR 1.17)”