การรักษาสะเก็ดเงิน มีวิธีการอย่างไร?
แพทย์จะพิจารณาแนวทางการรักษาโรคสะเก็ดเงินจากผลการวินิจฉัยชนิดของสะเก็ดเงิน รวมถึงระดับความรุนแรง และอาการข้างเคียงอื่น ๆ โดยมีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อควบคุม ยับยั้งไม่ให้เซลล์ผิวหนังแบ่งตัวเร็วเกินไปจนทำให้ผิวหนังลอกและตกสะเก็ด ทั้งนี้ แพทย์อาจใช้วิธีการรักษาหลายวิธีร่วมกันเพื่อให้ผลในการรักษาที่ดีที่สุด ได้แก่
ยาทาภายนอก (Topical medications)
- ยาทากลุ่มคอติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) เป็นยาทาภายนอกรูปแบบแชมพู ครีม หรือโลชั่นที่ใช้รักษาโรคสะเก็ดเงินในระดับเล็กน้อยถึงปานกลางที่บริเวณใบหน้า บริเวณซอกพับของผิว เป็นยาที่ให้การตอบสนองต่อการรักษาที่ดี แต่ไม่ควรใช้ยานี้ติดต่อกันเป็นเวลานานเพราะอาจทำให้ผิวบาง และยาอาจกดการทำงานของต่อมหมวกไต การใช้ยาควรอยู่ในความดูแลของแพทย์
- ยาทากลุ่มอนุพันธุ์วิตามิน D (Calipotriol) ช่วยทำให้การผลัดเซลล์ผิวหนังเป็นปกติ ช่วยลดความหนาของผื่น โดยในปัจจุบันมีการนำยาทากลุ่มอนุพันธ์วิตามินดีมาใช้ร่วมกับยากลุ่มคอติโคสเตียรอยด์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา แต่ไม่ควรใช้ยากลุ่มนี้ในปริมาณมากเพื่อป้องกันไม่ให้ผิวบาง และควรอยู่ในความควบคุมดูแลโดยแพทย์
- ยาทากลุ่มแอนทราลิน (Anthralin, dithranol) เป็นยาทาภายนอกเนื้อครีม กลุ่มน้ำมันทาร์ โดยทายาลงบนผื่นสะเก็ดเงิน (ยกเว้นใบหน้า และอวัยวะเพศ) เป็นเวลาสั้น ๆ แล้วล้างออก ช่วยชะลอการสร้างเซลล์ผิวใหม่ ช่วยขจัดเซลล์ผิวเสียสะเก็ดเงิน และช่วยทำให้ผิวเรียบเนียนขึ้น ทั้งนี้ ยาอาจทำให้เกิดการระคายเคืองผิวหนัง และทำให้สีผิวบริเวณที่ทายาคล้ำขึ้น
- ยาที่มีส่วนผสมของน้ำมันทาร์ (Tar) เป็นยาทาภายนอกที่มีประสิทธิภาพดี ปัจจุบันมีการผลิตในหลายรูปแบบ เช่น แชมพู ขี้ผึ้ง ครีม โลชั่น มีสรรพคุณช่วยยับยั้งการสร้างเซลล์ผิวใหม่ที่เร็วผิดปกติ ช่วยลดอาการคัน อักเสบ แต่อาจมีกลิ่นแรง และอาจทำให้เกิดการระคายเคืองผิวหนังได้
- ยาทากลุ่ม Calcineurin inhibitor (Tacrolimus, pimecrolimus) เป็นยารักษาสะเก็ดเงินกลุ่มใหม่ที่ช่วยทำให้ผื่นสงบลง ลดการสะสมก่อตัวของแผ่นสะเก็ดเงิน ใช้ทาบริเวณผิวหนังที่บอบบาง เช่น รอบดวงตา ใบหน้า หรือซอกพับ ไม่ควรใช้ยานี้เป็นระยะเวลานานเพื่อลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งผิวหนัง หรือมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ผู้ที่ตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรไม่ควรใช้ยานี้
- สารให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวหนัง (Skin moisturizer) เป็นยาทาภายนอกที่ปราศจากน้ำหอม อ่อนโยนต่อผิว ไม่ทำให้ผิวระคายเคือง มีความเสี่ยงต่ำที่อาจทำให้เกิดอาการแพ้ ดูดซึมเข้าสู่ชั้นผิวหนังได้ดี ช่วยลดอาการคัน แสบร้อน และช่วยทำให้ผิวชุ่มชื้น
การรักษาด้วยการฉายแสงอาทิตย์เทียม (UV Phototherapy)
- การฉายแสงยูวีบี (UVB Light Therapy) เป็นการรักษาด้วยการฉายแสงอาทิตย์เทียมอัลตราไวโอเลตบีชนิดคลื่นแคบ (NB-UVB) ที่มีความปลอดภัยสูง 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ ติดต่อกันอย่างน้อย 3 เดือนเพื่อรักษาอาการของโรคให้ดีขึ้น
- การฉายรังสีอัลตราไวโอเลต เอ พูว่า (PUVA Therapy) เป็นการฉายแสง 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ ติดต่อกันอย่างน้อย 3 เดือนร่วมกับการให้ยาเซอราเลน (Psoralen) ในผู้ป่วยสะเก็ดเงินที่มีระดับความรุนแรงของโรคระดับปานกลางถึงรุนแรงมาก เพื่อชะลอการสร้างเซลล์ผิวใหม่
- การฉายแสง Excimer light เป็นการฉายรังสีอัลตราไวโอเลตคลื่นสั้น (UV 380 nm) ประสิทธิภาพสูง ที่มีการกรองรังสีอัลตราไวโอเลตที่เป็นอันตรายออกไป และช่วยปรับสมดุลการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันร่างกายเพื่อช่วยรักษาโรคสะเก็ดเงิน เป็นการฉายแสงที่ไม่ทำให้ผิวไหม้เกรียม และไม่ทำให้เจ็บปวดผิวหนังระหว่างการรักษาแต่อย่างใด
การรักษาด้วยยาชนิดรับประทานและยาฉีด (Oral and injected medications)
ในผู้ที่มีอาการของโรคสะเก็ดเงินระดับปานกลางถึงรุนแรง ผู้ที่มีอาการของโรคสะเก็ดเงินมากกว่าร้อยละ 10 ของผิวหนังทั้งหมด รวมถึงผู้ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีอื่น แพทย์อาจพิจารณาการรักษาแบบผสมผสานทั้งยาชนิดรับประทาน และยาฉีด เพื่อช่วยให้ผลในการรักษาที่ดีขึ้น
- ยาชนิดรับประทาน (Oral medications) เช่น ยาเมโธเทรกเซท (Methotrexate) ยาอาซิเทรติน (Acitretin) ยาเรตินอยด์ (Retinoids) หรือยาไซโคลสปอริน (Cyclosporine) โดยยาอาจมีผลข้างเคียง การใช้ยาควรอยู่ในความควบคุมดูแลโดยแพทย์
- ยาฉีดกลุ่มชีวโมเลกุล (Biologic agents) เป็นยากลุ่มใหม่ที่ช่วยกดภูมิคุ้มกันร่างกาย ช่วยยับยั้งวงจรการเกิดโรคและช่วยให้อาการดีขึ้นภายใน 2-3 สัปดาห์ เนื่องจากตัวยามีผลในการกดภูมิคุ้มกัน การใช้ยาจึงควรอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์
ข้อควรระวัง
ยารับประทานบางชนิดมีผลข้างเคียงที่รุนแรง ควรใช้ในขณะที่เป็นมาก ยาบางขนานอาจทำให้โรคกำเริบ จึงควรหลีกเลี่ยงการซื้อยารับประทานหรือทาเอง
0 Comments