วิธีดูแลเท้าและเรียวขาให้สวย เรียบเนียน และมีสุขภาพดี พร้อมวิธีนวดผ่อนคลายด้วยตนเอง
เท้าและเรียวขา นอกจากเป็นอวัยวะที่สำคัญของร่างกายแล้ว การดูแลผิวพรรณบริเวณนี้ให้สวยเรียบเนียนและมีสุขภาพดี ก็ช่วยสร้างเสน่ห์ชวนมองด้วยเช่นกัน
แพทย์หญิงอณัฏฐ์ชา อัศดามงคล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังและความงาม ตัวแทนจากแบรนด์ ‘ธัญ’ (THANN) เผยว่า “เท้าและขาเป็นอวัยวะที่มีความสำคัญต่อร่างกายอย่างมาก ทั้งรับน้ำหนักของร่างกาย ใช้ในการเคลื่อนไหว รวมทั้งทำหน้าที่พยุงกระดูกเชิงกรานและกระดูกสันหลังให้ร่างกายมีสมดุล หากเท้าเกิดผิดปกติหรือรูปร่างเท้าเปลี่ยนไป อวัยวะอื่นๆ ก็จะรวนและผิดปกติไปด้วย ดังนั้นสุขภาพเท้าและขาจึงเป็นตัวบ่งชี้ถึงสุขภาพโดยรวมทั้งหมดของร่างกาย โดยเฉพาะช่วงนี้ที่เป็นฤดูฝน สภาพอากาศแปรปรวนและฝนตกบ่อย ต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมขัง การเดินลุยน้ำสกปรก ทำให้เกิดความอับชื้น เป็นแหล่งสะสมเชื้อราและแบคทีเรีย ส่งผลให้เกิดโรคที่เกี่ยวกับเท้าตามมา อาทิ เท้าเปื่อย, น้ำกัดเท้า, เชื้อรา, โรคผิวหนัง และโรคฉี่หนู การดูแลสุขภาพเท้าจึงเป็นสิ่งที่ต้องเอาใจใส่อยากถูกวิธีและไม่ควรละเลย”
วิธีการดูแลสุขภาพเท้า
สำหรับวิธีการดูแลสุขภาพเท้าและเรียวขาในช่วงหน้าฝน แพทย์หญิงอณัฏฐ์ชา ได้แนะนำไว้ดังนี้
1. แช่เท้าในน้ำอุ่นพร้อมกับนวดหรือถูด้วยสบู่ประมาณ 10 นาทีทุกๆ วัน นอกจากจะช่วยป้องกันโรคผิวหนังและลดอาการเท้าเหม็นแล้ว ยังช่วยให้เกิดความผ่อนคลายอีกด้วย
2. ขัดผิวเท้าเป็นประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณส้นเท้า เพื่อขจัดผิวเซลล์เก่าที่ตายแล้วออกไป ช่วยลดอาการเท้าแห้งด้าน และเท้าแตกได้
3. ทาผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่เน้นความชุ่มชื้นที่บริเวณขา หลังเท้า ฝ่าเท้า สันเท้า และเล็บเท้า โดยหลีกเลี่ยงการทาบริเวณซอกนิ้วเท้า เพราะจะทำให้เกิดการอับชื้นได้ง่ายโดยเฉพาะผู้ที่มีซอกนิ้วเท้าเบียดกัน
4. ก่อนสวมถุงเท้าหรือรองเท้า ควรเช็กก่อนว่าเท้าของเราแห้งหรือไม่ หากเท้าเปียกแล้วสวมถุงเท้าหรือรองเท้าอาจทำให้เท้าเกิดโรคผิวหนัง และเป็นสาเหตุของอาการเท้าเหม็นได้
5. การสวมถุงเท้า เพื่อคงความชุ่มชื้นของผิวหนังและลดการเสียดสี โดยเลือกใช้ถุงเท้าที่ไม่มีตะเข็บ ไม่รัดแน่นจนเกินไป และควรเปลี่ยนคู่ใหม่ทุกวัน
6. ควรตัดเล็บเท้าให้สั้นพอประมาณตามแนวขอบเล็บ โดยไม่ตัดเล็บลึกถึงจมูกเล็บและตัดเล็บเท้าด้วยความระมัดระวังอย่างถูกวิธี
7. หากมีหนังแข็ง ด้าน หูดหรือตาปลา ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษา ไม่ควรตัดหนังด้านแข็ง หูด หรือตาปลาด้วยตนเอง
ผลเสียต่อสุขภาพเท้าและเรียวขา
นอกจากที่กล่าวมาข้างต้นแล้วยังมีปัจจัยที่อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพเท้าและเรียวขาได้โดยที่เราไม่รู้ตัวจากการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน อาทิ
- การยืนเป็นระยะเวลานาน ทำให้กล้ามเนื้อขาเกร็ง และเกิดอาการล้า ส่งผลให้มีอาการปวดขา เส้นขาตึง
- การเดินระยะไกล เป็นการใช้งานกล้ามเนื้อขาซ้ำๆ ทำให้กล้ามเนื้อเกิดความอ่อนล้า และเกิดอาการปวดขาตามมา
- การออกกำลังกาย เช่น การวิ่ง การสควอช เป็นการใช้งานมัดกล้ามเนื้อขาโดยตรง โดยเฉพาะในผู้ที่วิ่งเป็นประจำ อาจมีอาการ ITBs หรือ IT band ซึ่งเป็นอาการปวดต้นขาด้านนอก ไล่ลงไปถึงหัวเข่าด้านนอก
- การนั่งอยู่ในท่าเดิมเป็นเวลานาน ทำให้กล้ามเนื้อก้นถูกกดทับ เกิดเป็นภาวะกล้ามเนื้อก้นหนีบเส้นประสาท (Piriformis) จะมีอาการปวดก้น ปวดต้นขาด้านหลัง ข้อพับเข่า และอาจมีอาการปวดน่องร่วมด้วย
- การนั่งไขว่ห้างเป็นประจำ จะทำให้น้ำหนักกดทับไปที่ก้น 2 ข้างไม่เท่ากัน เสี่ยงต่อการเกิดกระดูกสันหลังคด และกระดูกข้อเข่าถูกบิดให้ผิดรูป โดยเข่าข้างที่ไขว้ทับด้านบนบ่อยๆ จะเริ่มมีอาการปวด
- การใช้กล้ามเนื้อน่องมากเกินไป หรือการนั่งห้อยขาทั้งวันจนกล้ามเนื้อไม่ถูกใช้งาน อาจก่อให้เกิดอาการปวดเมื่อยบริเวณน่อง หรือตะคริว
- การใส่รองเท้าส้นสูงเป็นประจำ ทำให้น้ำหนักตัวเทไปด้านหน้าบริเวณปลายเท้า ทำให้กระดูกสันหลังเกิดอาการเกร็ง และข้อเข่าถูกกดทับตลอดเวลา หากจำเป็นต้องใส่รองเท้าส้นสูงควรหมั่นพักเท้าทุกๆ 1 ชั่วโมง
วิธีนวดเท้าและเรียวขา
ขณะเดียวกัน การนวดเท้าและขาถือเป็นวิธีคลายความปวดเมื่อยของกล้ามเนื้อ ลดอาการบวม และกระตุ้นการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย สามารถใช้ร่วมกับผลิตภัณฑ์เพื่อความผ่อนคลายได้ โดยมีวิธีนวดเท้าและเรียวขาดังต่อไปนี้
- การนวดเท้า โดยใช้มือบีบนวดบริเวณเท้า แล้วค่อยๆ กดหัวแม่มือลงน้ำหนักเล็กน้อย และนวดคลึงเป็นวงกลม บริเวณมีอาการปวดตึง หรือใช้ข้อศอกช่วยในการนวดเท้าได้
- การนวดน่อง โดยวางเท้าบนที่พักเท้าหรือเก้าอี้ ใช้มือคลึงและบีบกล้ามเนื้อน่องขึ้นลง จะช่วยคลายกล้ามเนื้อที่เกร็งตึง จากนั้นวางเท้าข้างซ้ายลงบนเข่าด้านขวา แล้วกำปั้นทุบเบาๆ ให้ทั่วบริเวณน่อง ตามด้วยการจับข้อเท้าและหมุนประมาณ 10 ครั้ง โดยทำสลับกันทั้งสองข้าง
- การนวดต้นขา โดยวางมือรอบๆ ต้นขา ให้หัวแม่มืออยู่ที่หน้าขา ค่อยๆ บีบนวดขึ้นลงประมาณ 10 ครั้ง แล้วใช้กำปั้นทุบเบาๆ ให้ทั่วต้นขา อย่างเป็นจังหวะ
- การนวดหน้าแข้ง โดยกดนวดบริเวณข้างกระดูกหน้าแข้งไปจนถึงปลายเท้า 5-10 รอบ แล้วกดคลึงเบาๆ หากมีอาการปวดมากให้กดคลึงค้างไว้ 5-10 วินาทีแล้วค่อยปล่อย เพื่อเป็นการคลายกล้ามเนื้อ
ที่มา Thairath Online