เกิดอะไรขึ้นกับผิว เมื่อต้องเผชิญกับฝุ่น PM 2.5
ปัจจุบันในประเทศไทยได้เกิดปัญหามลภาวะทางอากาศที่รุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ที่เกินค่ามาตราฐานทั้งในกรุงเทพปริมณฑล และอีกหลายจังหวัดในประเทศไทย ซึ่ง PM ย่อมาจาก Particulate Matter ส่วนตัวเลข 2.5 นั้นมาจาก ไมครอน (Micron) คือ หน่วยที่ใช้ในการวัดมาตราฐานคุณภาพในอากาศนั่นเอง
ฝุ่นละอองอนุภาคขนาดจิ๋วที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางเฉลี่ยน้อยกว่า 2.5 ไมครอน (Micron) ซึ่งเป็นฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กมาก แถมยังมีขนาดเล็กกว่าเส้นผมถึง 30 เท่า ส่วนใหญ่เกิดจากการสันดาปที่ไม่สมบูรณ์ของถ่านหิน ไอเสียรถยนต์ ฝุ่นละอองจากการก่อสร้างหรือการเผาป่า ในปริมาณที่สูงเกินกว่า 25- 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ก่อให้เกิดอันตรายต่อระบบการทำงานของร่างกายโดยเฉพาะระบบทางเดินหายใจ หลอดเลือด และหัวใจ ซึ่งนอกจากทำให้เกิดโรคหลอดลมอักเสบ โรคหอบหืด โรคมะเร็งปอด โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหลอดเลือดหัวใจแล้ว ยังส่งผลร้ายต่อสุขภาพผิวหนังของเราด้วย เพราะผิวหนังเองถือเป็นปราการด่านแรกที่สัมผัสกับฝุ่นนั่นเอง
ผลกระทบPM 2.5 ที่มีต่อผิว
ผิวหนังเป็นอวัยวะส่วนนอกสุด ซึ่งทำหน้าที่ในการป้องกันขั้นแรก จากการศึกษาพบว่ามลภาวะฝุ่นละออง ทำให้ผิวเสียจากภายนอกสู่ภายใน โดยการซึมผ่านผิวหนังโดยตรง และจากภายในโดยเริ่มจากปอดแล้วซึมเข้าสู่กระแสโลหิตไปยังระบบต่างๆ รวมถึงมายังผิวหนัง ซึ่งผลกระทบต่อผิวขึ้นอยู่กับปริมาณของ PM 2.5 ที่ได้รับและระดับชั้นของผิวที่ถูกกระทบ หากปริมาณไม่มากนักก็อาจจะส่งผลต่อผิวหนังกำพร้าชั้นบน ถ้าได้รับปริมาณมากก็อาจจะส่งผลต่อผิวหนังกำพร้าชั้นกลางและชั้นล่างสุด โดยจะทำให้การทำงานผิดปกติ และมีอาการที่แตกต่างกัน ได้แก่
- เซลล์หนังกำพร้าส่วนบน ผิวจะสากไม่เรียบ ไม่สว่าง ผิวหม่นหมอง และอาจจะมีขุย
- เซลล์หนังกำพร้าส่วนกลาง ผิวจะกระด้างไม่นุ่ม ไม่ผ่อง ผิวคล้ำมัว มีขุยบางๆ
- เซลล์หนังกำพร้าส่วนล่าง ผิวจะหยาบกระด้างไม่เนียนนุ่ม ผิวด้านไม่มีประกาย มีขุยชัดเจน
นอกจากนี้ PM 2.5 ยังมีผลต่อผู้ที่เป็นโรคผิวหนังหลายชนิด ได้แก่ ผิวหนังภูมิแพ้ (Atopic Dermatitis) ทำให้เกิดสิวอักเสบ และทำให้ผิวแก่ (Skin Aging) โดยมีการศึกษาพบว่า มีการเพิ่มขึ้นของกระแดด (Solar Lentigines) และรอยย่นบริเวณร่องแก้ม (Nasolabial Fold Wrinkles) รวมถึงความหย่อนคล้อยของหนังตาและแก้ม ในกรณีของสิว พบว่าการเพิ่มขึ้นของ PM 2.5 มีความสัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของคนไข้สิว และผิวหนังภูมิแพ้
จากที่กล่าวมาข้างต้นพบว่า PM 2.5 มีผลกระทบต่อผิวหนังได้ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ดังนั้นการปกป้องผิวหนังให้สัมผัสกับฝุ่นดังกล่าวให้น้อยที่สุด จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนที่มีปัญหาทางด้านผิวพรรณอยู่แล้ว เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นมากยิ่งขึ้น
การดูแลรักษาตนเองให้ปลอดภัยจากฝุ่นมลพิษ PM 2.5
ควรใส่เครื่องป้องกันฝุ่นละอองให้ดี ทั้งหน้ากากอนามัย การใส่เสื้อผ้าปกคลุมร่างกาย การทาโลชั่นหรือครีม การชะล้างทำความสะอาดผิวหนัง จะมีส่วนช่วยลดทอนการสัมผัสโดยตรงต่อ ฝุ่นมลพิษ PM 2.5 ได้
นอกเหนือจากการป้องกันข้างต้นแล้ว การรักษาและแก้ไขปัญหาสามารถทำได้โดย การตรวจวัดความสมบูรณ์ของผิวหนัง (Smooth & Soft Skin Test) เพื่อตรวจดูว่ามีความผิดปกติของเซลล์ผิวหนังที่ส่วนใด แล้วทำการแก้ไขที่ถูกต้องตรงจุด ผิวก็จะกลับมาทำงานได้ตามปกติ คืนความเรียบเนียน นุ่ม ใส ดูดีตามต้องการ
0 Comments