รักษา “กระเนื้อ” จบปัญหาเพิ่มความมั่นใจ คืนความเรียบเนียนให้ผิวสุขภาพดี

หนึ่งในปัญหาผิวพรรณที่พบได้บ่อยเมื่อผิวเริ่มมีการเสื่อมสภาพ นั่นคือ “กระเนื้อ” ไม่ว่าจะเนื่องมาจากอายุที่เพิ่มมากขึ้น แสงแดด มลภาวะ หรือการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง โดยจะพบในตำแหน่งต่างๆของผิวหนัง ทั้งบริเวณใบหน้า คอ หน้าอก หรือแผ่นหลัง กระเนื้อมีลักษณะอย่างไร มีสาเหตุมาจากไหน และมีวิธีรักษาหรือป้องกันอย่างไรบ้าง เราจะไปทำความรู้จักกับกระเนื้อด้วยกัน

ลักษณะของกระเนื้อ

ถึงแม้ว่าลักษณะของ “กระเนื้อ” จะมีความคล้ายคลึงกับ “ติ่งเนื้อ” ที่มักจะเกิดขึ้นได้บนผิวหนังเช่นกัน แต่ลักษณะของทั้งสองอาการก็มีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ดังต่อไปนี้

“กระเนื้อ” (Seborrheic keratosis) เป็นการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังตามอายุ สามารถเกิดขึ้นได้ทุกตำแหน่งในร่างกาย โดยทั่วไปจะมีลักษณะเป็นก้อนเนื้อรูปร่างทรงกลมหรือวงรีแปะติดอยู่กับผิวหนัง มีขนาดเล็กไปจนถึงประมาณ 1 นิ้ว (หรือ 2.5 เซนติเมตร) ในระยะแรก จะเป็นตุ่มสีน้ำตาลอ่อน จากนั้นจะขยายใหญ่ มีลักษณะนูนและหนามากยิ่งขึ้น สีจะเข้มมากขึ้นเป็นสีน้ำตาลดำ ผิวจะขรุขระโดยนูนขึ้นมาจากผิวรอบข้าง มักจะเกิดขึ้นในเซลล์ของชั้นหนังกำพร้า อาจจะพบในบริเวณที่ถูกแสงแดดมากกว่าส่วนอื่น ๆ เช่น ใบหน้า หนังศีรษะ หน้าอก ไหล่ ท้อง และหลัง มักจะเกิดเป็นกระจุกมากกว่าจุดเดียว แต่จะไม่พบตามฝ่ามือหรือฝ่าเท้า อาจมีอาการคันหรือเกิดการระคายเคือง แต่ไม่มีอาการเจ็บ ไม่มีอาการที่เกิดการติดต่อ แต่อาจจะทำให้ผิวดูไม่เกลี้ยงเกลาและไม่สวยงาม

ในขณะที่ “ติ่งเนื้อ” (Skin Tag) ที่ถึงแม้ว่าจะมีลักษณะคล้ายกับกระเนื้อ แต่ความแตกต่างคือ จะมีลักษณะเป็นตุ่มนูนยื่นหรืองอกออกมาจากผิวหนัง มักมีสีเดียวกันกับผิวหนังบริเวณนั้น มีขนาดตั้งแต่น้อยกว่า 1 มิลลิเมตร จนถึงมากกว่า 10 มิลลิเมตร พบในวัยกลางคนเป็นต้นไป โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุและคนอ้วน ที่มีน้ำหนักมาก ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะเป็นมากกว่าผู้ชาย ติ่งเนื้อมีหลายขนาดตั้งแต่เล็กจนใหญ่ มักจะพบในบริเวณที่มีการเสียดสีอยู่บ่อย ๆ เช่น เปลือกตาบน รักแร้ ใต้ราวนม และลำคอ เป็นต้น ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีอาการ แต่ถ้ามีการเสียดสีก็อาจจะทำให้รู้สึกเจ็บและมีเลือดออกได้ มักจะมีขนาดโต เพิ่มจำนวนตามอายุหรือเกิดในช่วงตั้งครรภ์

สาเหตุของการเกิดกระเนื้อ

ถึงแม้ว่าในปัจจุบัน ยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดกระเนื้อ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็มีปัจจัยหลายอย่างที่เอื้อต่อการเกิดกระเนื้อได้ ดังต่อไปนี้

  1. อายุที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังตามวัยที่เพิ่มขึ้น โดย 90% พบได้บ่อยในผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป ไม่เพียงเท่านั้น กระเนื้อยังสามารถเกิดขึ้นได้ในผู้ใหญ่วัยกลางคนที่มีอายุระหว่าง 30-40 ปีด้วยเช่นกัน
  2. พันธุกรรม บุคคลที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นกระเนื้อมาก่อน ก็จะมีโอกาสเกิดกระเนื้อได้สูงกว่าคนทั่วไป นับเป็นลักษณะอาการที่สามารถถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรม และถ้าหากเป็นกรรมพันธุ์ชนิดลักษณะยีนส์เด่น โอกาสที่จะส่งต่อกระเนื้อไปยังรุ่นถัดไปก็มีมากถึง 50 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว
  3. การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกาย ในผู้หญิง พบว่ากระเนื้อเกิดขึ้นได้มากกว่าปกติในช่วงเวลาที่มีการตั้งครรภ์ หลังจากได้รับฮอร์โมนบางชนิด ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่าการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกายมีส่วนเกี่ยวข้องที่ทำให้เกิดกระเนื้อได้เช่นกัน
  4. แสงแดด นอกจากนี้ยังพบว่าคนที่ทำงานกลางแจ้งหรือโดนแดดเป็นเวลานานจะมีโอกาสเกิดกระเนื้อได้มากกว่าคนที่ทำงานในร่ม ซึ่งในส่วนผิวหนังที่สัมผัสกับแสงแดดโดยตรงเป็นเวลานานๆ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังสะสม คนที่มีผิวขาวจะเห็นได้ชัดกว่าคนที่มีผิวสีเข้ม และการเกิดกระเนื้อจะเกิดแบบค่อยเป็นค่อยไป
  5. สาเหตุอื่น ๆ เช่น เป็นโรคผิวหนัง การติดเชื้อไวรัส การกลายพันธุ์ของยีน เป็นต้น

การวินิจฉัยกระเนื้อ

ถึงแม้ว่า “กระเนื้อ” จะไม่ส่งผลอันตรายใดๆต่อร่างกาย มีเพียงลักษณะที่ไม่น่ามองเท่านั้น แต่เนื่องจากสามารถเจริญเติบโตได้ไม่หยุด และขยายขนาดต่อไปได้เรื่อยๆ และยังมีสีที่เข้มขึ้นจนอาจทำให้ใครหลายคนไม่สบายใจ หรืออาจจะรู้สึกเจ็บปวด มีอาการระคายเคือง มีเลือดไหลออกมา ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจและวินิจฉัย ซึ่งแพทย์สามารถวินิจฉัยอาการจากการสังเกตที่ผิวหนัง การสอบถามประวัติและการตรวจร่างกาย ในกรณีที่ไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่าเป็นเพียงกระเนื้อธรรมดาหรือเป็นความผิดปกติอย่างอื่น เนื่องจากกระเนื้อมีความคล้ายคลึงกับโรคผิวหนังหรือโรคมะเร็วผิวหนังหลายชนิด เช่น ชนิดเมลาโนมา (Malignant Melanoma) ชนิดเบซาลเซลล์ (Basal Cell Carcinoma – บีซีซี) หรือชนิดสะความัส (Squamous Cell Carcinoma) จำเป็นต้องใช้วิธีอื่นในการตรวจเพิ่มเติมควบคู่กันไป ได้แก่

  • การส่องกล้องตรวจผิวหนัง (Dermatoscopy) เพื่อแพทย์จะสามารถดูลึกไปถึงโครงสร้างของผิวหนัง และความผิดปกติของเม็ดสี
  • การตัดชิ้นส่วนของกระเนื้อ เพื่อเป็นการเก็บตัวอย่างของผิวหนังบริเวณที่มีปัญหาไปตรวจอย่างละเอียดในทางพยาธิวิทยา โดยการใช้กล้องจุลทรรศน์(Skin Biopsy)ส่องเพื่อดูความผิดปกติของชิ้นเนื้อนั้นๆ

ภาวะแทรกซ้อนของกระเนื้อ

โดยทั่วไป “กระเนื้อ” เป็นเนื้อที่งอกออกจากผิวหนังชนิดที่ไม่ร้ายแรง ไม่ส่งผลใดๆต่อร่างกาย แต่จะส่งผลต่อความมั่นใจในรูปลักษณ์ภายนอก ทำให้ผิวไม่เรียบเนียน และส่งผลต่อสภาพจิตใจ เนื่องจากทำให้เครียด กังวลหรืออาย หรือในบางรายอาจจะเกิดอาการระคายเคือง คัน บวมอักเสบ ผิวแตกเป็นแผล มีเลือดออก และที่สำคัญกระเนื้อที่เกิดขึ้นโดยส่วนใหญ่จะมีลักษณะคล้ายผื่น ซึ่งเป็นลักษณะที่คล้ายคลึงกับมะเร็งผิวหนัง เนื้องอกชนิดอะดีโนคาซิโนมาในทางเดินอาหาร (Gastric Adenocarcinoma) หรือกลุ่มอาการที่เป็นผลจากโรคมะเร็ง (Paraneoplastic Syndrome) แต่พบได้น้อยมาก ด้วยเหตุนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าพบแพทย์ เพื่อทำการวินิจฉัยอย่างเด็ดขาด ชัดเจน เพื่อการรักษาที่ถูกต้องต่อไป

วิธีรักษากระเนื้อ

แท้จริงแล้ว โดยตัวของกระเนื้อไม่มีอันตรายใดๆ แต่ผู้คนนิยมกำจัดออกจากร่างกายเนื่องด้วยเหตุผลที่เกี่ยวข้องกับความสวยงามหรือส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่นมีการระคายเคืองหรือเสียดสีกับเสื้อผ้า ในส่วนของวิธีการรักษาหรือกำจัดกระเนื้อสามารถทำได้หลายวิธี ดังต่อไปนี้

  • การผ่าตัดด้วยความเย็นหรือการจี้เย็น (Cryosurgery) โดยการใช้ไนโตรเจนเหลวแช่แข็งเพื่อทำลายเนื้อเยื่อส่วนที่ผิดปกติที่ยื่นออกมา เป็นวิธีการกำจัดกระเนื้อที่ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ แต่อาจจะส่งผลให้เกิดรอยด่างบริเวณที่เกิดกระเนื้อ แต่อาจจะให้ผลลัพธ์ที่ไม่ดีนักกับกระเนื้อที่มีลักษณะนูน วิธีการนี้จะทำให้เกิดเป็นตุ่มน้ำพองขึ้น แต่ต่อมาก็จะแห้งเป็นสะเก็ดแล้วหลุดออกไปภายใน 2-3 สัปดาห์
  • การขูดเอาเนื้อเยื่อที่เป็นกระเนื้อออกมาโดยใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีชื่อว่า Curettage เพื่อให้ผิวหนังบริเวณนั้นบางหรือเรียบลง สามารถทำควบคู่กับการผ่าตัดเย็นหรือการจี้ด้วยไฟฟ้า
  • การจี้ด้วยไฟฟ้า (Electrocautery) โดยแพทย์จะทายาชาก่อนที่จะใช้เครื่องจี้ไฟฟ้ากับบริเวณผิวหนังที่เป็นเป็นกระเนื้อ ต้องทำกับแพทย์ผู้มีความเชี่ยวชาญเท่านั้น ไม่เช่นนั้นจะทำให้เกิดแผลเป็นตามมาได้ สามารถทำควบคู่กับวิธีขูดเอาเนื้อเยื่อออกมา ใช้เวลาในการรักษานานกว่าวิธีอื่น
  • การรักษาด้วยเลเซอร์ (Ablative Laser Surgery) ซึ่งเลเซอร์ที่นิยมใช้ในการกำจัดกระเนื้อ คือ CO2 Laser หรือคาร์บอนไดอ๊อกไซด์เลเซอร์ (Carbondioxide Laser) โดยจะทายาชาที่บริเวณผิวหนังที่ต้องการก่อน วิธีการเช่นนี้จะทำให้มีแผลตื้นๆบริเวณที่กระเนื้อถูกจี้ออก แต่แผลจะหายไปภายใน 1 สัปดาห์ เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยลดเลือนรอยกระได้เป็นอย่างดี
  • การจี้ด้วยสารเคมี (Focal Chemical Peel) เช่น กรดไตรคลอโรอะซิติก (Trichloroacetic Acid) วิธีนี้ไม่ต้องใช้ยาชา แต่การจี้ด้วยวิธีนี้จะทำให้เนื้อเยื่อของติ่งเนื้อที่ยื่นออกมาตายและหลุดออก แต่ถ้าหากกระเนื้อหนามากอาจจะทำให้หลุดออกมาไม่หมด ต้องจี้หลายครั้ง

ทุกวันนี้ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยมากยิ่งขึ้น ทำให้การรักษากระเนื้อได้รวดเร็วและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ เพราะแต่ละวิธีย่อมมีทั้งข้อดีและข้อเสีย และหลังจากที่รักษา กระเนื้อมักไม่ค่อยกลับมาเป็นที่จุดเดิม แต่มีโอกาสที่จะเกิดในส่วนอื่นๆของร่างกายได้

การป้องกันกระเนื้อ

ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีการระบุสาเหตุของการเกิดกระเนื้ออย่างชัดเจน แต่สามารถลดโอกาสเสี่ยงจากปัจจัยที่เกี่ยวข้องได้ เพราะหนึ่งในสาเหตุของการเกิดกระเนื้อมาจากแสงยูวี ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการเผชิญกับแสงแดดโดยตรงเป็นเวลานานๆ โดยเฉพาะในช่วง 10:00 – 15:00 น. ซึ่งเป็นช่วงที่แดดแรงมาก ควรมีการสวมเสื้อแขนยาว หรือหมวก และไม่ลืมทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF50 ขึ้นไปเพื่อปกป้องผิวได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น