ฝ้าแดดคืออะไร? พร้อมแนะนำการรักษา ให้ฝ้าแดดจางลง อย่างถูกวิธี
“แสงแดด” นับเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาผิวมากมาย หนึ่งในนั้นคงหนีไม่พ้นปัญหา “ฝ้าแดด” ปัญหาผิวหน้าที่รักษาได้ยาก และใช้ระยะเวลาในการรักษาค่อนข้างนาน อีกทั้งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีก็อาจทำให้ฝ้ามีสีเข้มขึ้นและขยายเป็นวงกว้างด้วย ในบทความนี้รมย์รวินท์จะพาคุณมารู้จักกับฝ้าแดดให้มากขึ้น พร้อมแนะนำวิธีรักษาฝ้าแดดอย่างเหมาะสมซึ่งจะช่วยให้ฝ้าดูจางลงได้ค่ะ
ฝ้าแดดคืออะไร ?
ฝ้าแดด คือ ฝ้าชนิดหนึ่งที่มีสาเหตุหลักมาจากรังสียูวี (Ultraviolet) จากแสงแดด และแสงสีฟ้า HEVIS (High Energy Visible Light) ซึ่งเป็นแสงที่มาจากหลอดไฟ คอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์มือถือ โดยสิ่งเหล่านี้จะเข้าไปกระตุ้นให้เซลล์เม็ดสีเมลานินใต้ผิวหนังทำงานผิดปกติ จึงสร้างเม็ดสีออกมามากเกินไป ส่งผลให้สีผิวเข้มขึ้นจนเกิดเป็นฝ้าแดดตามมาในที่สุด
ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดฝ้าแดด มีอะไรบ้าง ?
ฝ้าแดดเกิดจากอะไร? ฝ้าแดดสามารถเกิดขึ้นได้จากการกระตุ้นของหลายปัจจัย ดังนี้
- แสงแดด ไม่ว่าจะเป็นรังสี UVA หรือ UVB จากแสงแดด รวมถึงแสงสีฟ้า (Blue Light) จากหน้าจอและหลอดไฟ ล้วนเป็นสาเหตุสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดการสร้างเม็ดสีเมลานินมากกว่าปกติ จนเกิดฝ้าแดดขึ้นมาได้นั่นเอง
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย เป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ร่างกายสร้างเม็ดสีออกมามากขึ้น จึงกระตุ้นให้เกิดฝ้าแดดบนผิวหน้าได้ โดยมักเกิดขึ้นในช่วงตั้งครรภ์, เป็นประจำเดือน, การรับประทานยาคุมกำเนิด รวมถึงช่วงเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนด้วย
- พันธุกรรม ฝ้าแดด รวมถึงฝ้าทุกประเภท สามารถส่งต่อทางพันธุกรรมได้มากถึง 50% ดังนั้นหากสมาชิกในครอบครัวเป็นฝ้าแดด ผู้ที่เป็นบุตรหลานก็อาจเกิดฝ้าแดดได้ง่ายเช่นเดียวกัน
- เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของสารไฮโดรควิโนน (Hydroquinone) จะเข้าไปยับยั้งการทำงานของเซลล์เม็ดสีเมลานิน ซึ่งปกติแล้วจะใช้รักษาปัญหาฝ้า แต่หากใช้ในปริมาณที่มากเกินไปจะเป็นอันตรายต่อผิวหน้า โดยอาจทำให้ผิวหน้าเกิดเป็นด่างขาวหรือเกิดเป็นฝ้าแดดถาวรได้
- การขาดสารอาหาร หากร่างกายได้รับสารอาหารในปริมาณที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ อาจทำให้ตับทำงานผิดปกติ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดรอยปื้นคล้ายกับฝ้าแดดได้ นอกจากนี้ การขาดวิตามินบี 12 ก็สามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดฝ้าแดดได้เช่นเดียวกัน
รักษาฝ้าแดดให้จางลงอย่างถูกวิธี ต้องทำอย่างไร ?
ฝ้าแดดรักษายังไง? ปัญหาฝ้าแดดนั้นไม่สามารถรักษาให้หายขาดแบบถาวรได้ค่ะ การใช้วิธีรักษาไม่ถูกต้องอาจทำให้อาการฝ้าแย่ลงกว่าเดิม นอกจากนี้ หากหยุดรักษาไปก็มีโอกาสกลับมาเป็นฝ้าได้อีกครั้ง ดังนั้นการรักษาฝ้าแดดจึงต้องใช้วิธีที่เหมาะสมและทำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อบรรเทาให้ฝ้าจางลง โดยคุณสามารถใช้วิธีดังต่อไปนี้ในการรักษาฝ้าแดดได้
ใช้ยาทารักษาฝ้าแดด
ใช้ยาสำหรับรักษาฝ้าโดยเฉพาะ ยาประเภทรักษาฝ้าแม้มีหลายกลุ่มก็ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิด เนื่องจากยารักษาฝ้าโดยเฉพาะมักมีค่ากรดที่สูง ส่งผลให้เกิดการผลัดเซลล์ผิวซึ่งอาจทำให้ผิวแสบเคือง ผิวลอก หรือส่งผลกระทบต่อผิวอย่างรุนแรง หากใช้ยารักษาฝ้าในปริมาณที่พอดีและอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ จะเป็นหนึ่งในวิธีการรักษาที่เห็นผลได้ตั้งแต่การรักษา 1-2 เดือนแรก และชัดเจนมากขึ้นหลังการใช้ 6 เดือน
ตัวยาทารักษาฝ้าแดดมีหลายตัวยา เช่น กลุ่มกรดวิตามินเอหรือเรตินอยด์ (Topical Retinoids/Retinoic Acid), กรดอะซีลาอิก(Azelaic Acid), กรดโควิก(Kojic Acid), คอร์ติโคสเตียรอยด์(Corticosteroids), กรดไกลโคลิก(Glycolic Acid)
ทำเลเซอร์แก้ฝ้าแดด
การทำเลเซอร์ การใช้เลเซอร์หรือการรักษาด้วยแสงมีความแม่นยำและถูกจุดที่สุด แม้จะมีราคาสูงแต่ก็เป็นวิธีที่หลายคนเลือกใช้เป็นการรักษาเสริม เพราะการเลเซอร์เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ สามารถช่วยกำจัดเม็ดสีส่วนเกินได้แต่ภายใต้ชั้นผิวก็ยังมีการผลิตเม็ดสีเพิ่มอยู่ อีกทั้งวิธีนี้ยังมีความเสี่ยงต่อการทำร้ายผิว ทำให้ผิวมีความไวต่อแสงมากกว่าปกติ หากการดูแลผิวหลังเลเซอร์ไม่ดีพออาจทำเพิ่มความเสี่ยงทำให้เกิดฝ้าที่เข้มและเยอะกว่าเดิม หรือเกิดแผลจากการรักษาได้
ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนช่วยรักษาฝ้าแดด
ครีมบำรุงผิวหน้า ครีมบำรุงที่มีสารช่วยรักษาฝ้า เป็นวิธีที่อาจเห็นผลช้ากว่าการใช้ยาสำหรับรักษาฝ้าโดยเฉพาะ แต่ช่วยถนอมผิวได้มากกว่า เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่สะดวกใช้ยารักษาฝ้า หรือผู้ที่มีผิวบอบบางและต้องการการบำรุงผิวไปในเวลาเดียวกัน หรืออาจจะใช้วิธีรักษาฝ้าแดดแบบธรรมชาติ โดยใช้ส่วนประกอบจากธรรมชาติที่มีสรรพคุณช่วยลดฝ้ากระจุดด่างดำ เช่น ว่านหางจระเข้ หอมแดง มะขามเปียก เป็นต้น แต่ทั้งนี้การใช้ส่วนผสมจากธรรมชาติเหล่านี้อาจจะก่อความระคายเคียงให้กับผิวได้
การลอกผิวเพื่อรักษาฝ้า
การลอกผิวเพื่อรักษาฝ้า วิธีนี้จำเป็นต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้นเนื่องจากต้องใช้ความละเอียดอ่อนและแม่นยำเป็นพิเศษ การลอกชั้นผิวด้วยกรดหรือสารเคมีช่วยให้ฝ้าจางลงได้ แต่ถ้าหากลึกลงไปในชั้นผิวมากเกินไปอาจเกิดแผลเป็นถาวร และยังมีผลข้างเคียงทำให้ผิวบอบบาง แห้ง ไวต่อแสงแดดอีกด้วย