รู้จัก “โรคเชื้อรา”

โรคเชื้อรา เป็นโรคผิวหนังที่พบบ่อยในทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นเชื้อราที่ผิวหนังธรรมดา เชื้อราในร่มผ้า ไปจนถึงเชื้อราที่ส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย หากพบว่าตัวเองมีอาการต่างๆ ที่เป็นสัญญาณของโรคเชื้อรา ก็ไม่ควรนิ่งเฉย เพราะหากปล่อยไว้นานๆ อาจส่งผลต่อสุขภาพ และคุณภาพชีวิตโดยรวมได้ บทความนี้จึงนำสาระความรู้ดีๆ เกี่ยวกับ “โรคเชื้อรา” มาฝากกัน

สาเหตุที่ทำให้เป็น “โรคเชื้อรา”

เมื่อพูดถึงโรคเชื้อราผิวหนัง หลายคนอาจนึกถึง กลาก และเกลื้อน แต่จริงๆ แล้ว โรคทางผิวหนังเหล่านี้มีอีกหลายประเภท สาเหตุของโรคเชื้อราก็เกิดจากหลายปัจจัย โดยส่วนใหญ่เชื้อรามักเจริญเติบโตบริเวณผิวหนังที่อับชื้น อากาศร้อนมาก หรือมีเหงื่อออกเยอะ

บางครั้งผิวหนังของเรา ก็อาจติดเชื้อมาจากการสัมผัสโดนเชื้อราโดยตรงจากสภาพแวดล้อม และวัตถุสิ่งของที่กักเก็บความชื้น หรือไม่สะอาด เช่น เสื้อผ้า เครื่องใช้ เฟอร์นิเจอร์ พื้นดิน สัตว์ ฯลฯ แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่กระตุ้นให้เกิดโรคเชื้อราง่ายขึ้น โดยเฉพาะเมื่อร่างกายอ่อนแอ สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยโรคอ้วน เป็นต้น

โรคที่เกิดจากเชื้อรามีอะไรบ้าง?

โรคเชื้อราที่พบบ่อย มักจะเป็น “โรคผิวหนังอักเสบจากเชื้อรา” ที่อาจเริ่มจากอาการคันเล็กน้อย ผิวหนังมีจุดเล็กๆ ก่อนจะค่อยๆ ขยายใหญ่ขึ้น มีผื่นแดง ตุ่มใส สีผิวเปลี่ยนไป ฯลฯ จนนำไปสู่โรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อรา สร้างความรำคาญใจ ส่งผลกระทบต่อบุคลิกภาพ และการใช้ชีวิตประจำวัน สำหรับโรคที่เกิดจากเชื้อราที่พบได้บ่อย มีดังนี้

โรคเชื้อราที่ผิวหนัง

โรคเชื้อราบริเวณผิวหนังภายนอก เป็นโรคที่พบได้บ่อยมาก โดยเฉพาะในพื้นที่สภาพอากาศร้อนชื้น และมีอุณหภูมิสูง โดยนอกจากสภาพแวดล้อมแล้ว พฤติกรรมต่างๆ ก็ยังส่งผลให้เกิดโรคเชื้อราที่ผิวหนังได้อีกด้วย

กลาก : อาการที่สังเกตได้ง่ายที่สุดของผู้ที่เป็นเกลื้อนคือ ผิวหนังจะมีลักษณะเป็นผื่นคัน มีขุยเป็นวงสีแดงและสีขาว บางคนอาจมีตุ่มแดงนูน ปรากฏขึ้นตามบริเวณอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น ศีรษะ ใบหน้า ต้นคอ มือ เท้า ขาหนีบ ฯลฯ มักติดเชื้อมาจากการสัมผัสวัตถุหรือพื้นผิวที่มีเชื้อรา เช่น เสื้อผ้า ผ้าปูที่นอน หมอน ผ้าห่ม เป็นต้น

เกลื้อน : มักเกิดจากความอับชื้น อยู่ในสถานที่มีอากาศร้อน เหงื่อออกเยอะ หรือมีปัจจัยอื่นๆ มากระตุ้น เช่น ระบบภูมิคุ้มกันตก หรือฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง อาการที่เห็นได้ชัดคือ จะมีผื่นสีแดงและสีน้ำตาล ขึ้นบริเวณผิวหนัง ทำให้ผิวหนังส่วนนั้นแห้งจนตกสะเก็ด และมีอาการคันร่วมด้วย

ฮ่องกงฟุต : อาการของโรคเชื้อราที่เท้าชนิดหนึ่ง หรือที่มักเรียกว่า “น้ำกัดเท้า” มักเกิดโรคเชื้อราบริเวณง่ามนิ้วเท้า นอกจากมีอาการคันแล้ว บางคนอาจเป็นหนักจนเกิดแผล หรือตุ่มน้ำใสๆ ที่เท้า ส่วนใหญ่เกิดจากเท้าอับชื้น เช่น มีเหงื่อออกมาก แช่เท้าในน้ำเป็นเวลานาน หรือสวมถุงเท้า-รองเท้าแน่นจนเกินไป

เชื้อราตามซอกข้อพับ : การคันตามข้อพับ หรือซอกข้อพับของแขน รักแร้ และขาหนีบ จนเกิดผื่นแดง มีขุยเล็กๆ มีอาการคัน หรืออักเสบจนเป็นแผล เป็นอาการของ “โรคติดเชื้อราแคนดิดา” ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อราที่ผิวหนังชนิดหนึ่ง ผู้ที่เป็นโรคอ้วน หรือเบาหวาน มักมีโอกาสติดเชื้อราบริเวณซอกข้อพับมากกว่าคนทั่วไป

โรคเชื้อราในร่มผ้า

อวัยวะในร่มผ้าก็สามารถติดเชื้อราได้เช่นกัน โดยเฉพาะบริเวณอวัยวะเพศทั้งหญิงและชาย อาจเกิดอาการผิดปกติได้ ไม่ว่าจะเป็นอาการผื่นคันหรืออักเสบ ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ การหมั่นสังเกตความผิดปกติเหล่านี้ จะช่วยให้หาทางดูแลอวัยวะในร่มผ้าได้อย่างถูกวิธี

ภาวะเชื้อราในช่องคลอด : การติดเชื้อในช่องคลอดเกิดขึ้นได้กับผู้หญิงทุกคน ไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อรา และการติดเชื้อแบคทีเรีย ทำให้มีอาการคัน ระคายเคือง และตกขาวผิดปกติ มีสาเหตุจากหลายปัจจัยด้วยกัน เช่น การแพ้สบู่หรือครีมอาบน้ำ, อวัยวะเพศอับชื้น, มีประจำเดือน, เปลี่ยนคู่นอนหลายคน, ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง, โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง ฯลฯ ควรหันมาดูแลรักษาความสะอาดจุดซ่อนเร้นให้มากขึ้น ไม่สวมกางเกงรัดแน่น หากกำลังมีประจำเดือน ก็ควรเปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อยๆ

สังคัง : โรคเชื้อราผิวหนังที่เกิดขึ้นกับผู้ชาย มักเจริญเติบโตในที่อับและชื้น หรือเกิดจากการใช้ของส่วนตัวร่วมกัน ทำให้ผิวหนังบริเวณต้นขาและขาหนีบ มีผื่นแดง รู้สึกคัน หากลุกลามก็จะขยายเป็นผื่น หรือวงกว้างลุกลามไปยังผิวหนังบริเวณอื่นๆ วิธีป้องกันง่ายๆ หลังอาบน้ำ หรือหลังออกกำลังกาย ไม่ควรใช้ผ้าขนหนูร่วมกับผู้อื่น และควรเช็ดผิวหนังบริเวณขาหนีบให้แห้ง ไม่อับชื้น รวมถึงหลีกเลี่ยงการสวมกางเกงรัดและแน่นเกินไป

บทสรุป

โรคเชื้อรา ถือเป็นโรคทางผิวหนังที่ไม่ควรมองข้าม เพราะนอกจากทำให้ผิวหนังส่วนต่างๆ รู้สึกระคายเคืองแล้ว อาจยังส่งผลต่อความรู้สึกมั่นใจของหลายๆ คนอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่มีปัญหาโรคเชื้อราไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรรักษาด้วยวิธีที่ถูกต้อง พร้อมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวันให้เหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นโรคเชื้อราอีก