มีตุ่มขึ้นตามตัวต้องสงสัย ใช่ฝีดาษลิง เริม งูสวัด หรือโรคอะไรกันแน่

ช่วงนี้โรคระบาดมาต่อ ๆ กันไม่มีพัก และไม่ว่าจะเป็นโควิด 19 หรือฝีดาษลิง ก็เจออาการตุ่มหรือผื่นขึ้นได้ทั้งคู่ หรืออย่างที่มีข่าวเจอผู้ต้องสงสัยฝีดาษลิง แต่ตรวจแล้วกลับพบว่าเป็นโรคเริม เป็นต้น ซึ่งก็หมายความว่า ตุ่มที่ขึ้นบนร่างกาย ต้องสงสัยได้หลายโรคจริง ๆ ดังนั้น ตุ่มบนผิวหนังเราบอกโรคอะไรกันแน่ ลองมาเช็กดูให้ดี ๆ

ฝีดาษลิง

โรคฝีดาษลิง (Monkeypox) เกิดจากเชื้อไวรัสในกลุ่มพอกซ์วิริเด (Poxviridae) จัดอยู่ในจีนัสไวรัสออร์โธพอกซ์ (Orthopoxvirus) ซึ่งเป็นเชื้อในตระกูลเดียวกับไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคไข้ทรพิษหรือโรคฝีดาษในอดีต

ส่วนลักษณะผื่นฝีดาษลิงจะพัฒนาไปตามระยะ คือ มีผื่นนูนแดง แล้วกลายเป็นตุ่มน้ำใส ตุ่มหนอง สีขาวเหลือง มีรอยบุ๋มตรงกลาง จนกระทั่งในระยะสุดท้ายตุ่มหนองจะเป็นสะเก็ดหลุดออกมา โดยจะเริ่มมีตุ่มภายใน 1-3 วัน หลังมีไข้ และอาจขึ้นบริเวณใบหน้า ก่อนจะกระจายไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ฝ่ามือ ฝ่าเท้า แขน ขา หรืออาจพบในบริเวณช่องปาก รวมไปถึงอวัยวะเพศได้ด้วย

เริม

โรคเริม เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเฮอร์ปีส์ซิมเพ­­ล็กซ์ (Herpes simplex virus) ซึ่งเชื้อไวรัสชนิดนี้แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ Herpes simplex Type 1 และ Herpes simplex Type 2 โดยไวรัสทั้ง 2 ชนิดนี้สามารถก่อให้เกิดตุ่มน้ำใส ๆ ได้ ทั้งบริเวณรอยต่อระหว่างริมฝีปากกับผิวหนัง และสามารถเป็นได้ที่อวัยวะเพศเช่นกัน

ส่วนลักษณะตุ่มจะเป็นตุ่มใสเล็ก พอง ขึ้นรวมกันเป็นกลุ่มและลามอย่างรวดเร็ว ภายในตุ่มใสจะมีน้ำอยู่ข้างใน หลังจากนั้นจะแตกออกกลายเป็นแผล จนรู้สึกเจ็บและแสบแผลได้ และหากตุ่มโดนน้ำอยู่ตลอดเวลาก็อาจจะมีอาการคันร่วมด้วย ซึ่งโดยปกติแล้วตุ่มน้ำใสเหล่านี้จะแห้งได้เองภายใน 7-10 วัน หลังมีอาการแสดง แต่หากเจอความชื้น ดูแลแผลไม่ดี อาจหายช้ากว่าปกติได้

อีสุกอีใส (Chickenpox)

โรคอีสุกอีใส เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสวาริเซลลา (Varicella virus) หรือ Human herpes virus type 3 โดยนอกจากจะมีตุ่มขึ้นที่ผิวหนังแล้วก็ยังมีไข้ร่วมด้วย โดยเริ่มแรกจะเป็นผื่นแดงราบ ลามกระจายตามใบหน้า ลำตัว แผ่นหลัง มีอาการคันมาก ต่อมาก็พัฒนาเป็นตุ่มใส จากนั้นตุ่มจะเริ่มแตกกลายเป็นสะเก็ดแผลครอบตุ่มน้ำอีกที ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะหายเองได้ภายใน 1-3 สัปดาห์ค่ะ แต่หากเกิดโรคแทรกซ้อนขึ้นจากการติดเชื้อจากแผลที่เกิดขึ้นทั้งตัว อาจทำให้มีอาการต่าง ๆ เช่น แก้วหูอักเสบ ปอดอักเสบ ตับอักเสบ หรือติดเชื้อในสมองได้เช่นกัน

ดังนั้นหากเป็นอีสุกอีใสแล้วมีอาการปวดหู ไอ หายใจเหนื่อย เจ็บหน้าอก ตาเหลือง ตัวเหลือง (ดีซ่าน) ปวดศีรษะมาก ซึมลง อาการใดอาการหนึ่งหรือมากกว่า ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาเพิ่มเติม เพราะโรคแทรกซ้อนบางอาการอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้เลย

โรคมือเท้าปาก

หากตุ่มที่ขึ้นมีลักษณะเป็นจุดแดง หรือตุ่มน้ำใสขนาดเล็ก โดยขึ้นบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า ตามลำตัว แขน และขา หรือมีแผลร้อนในเกิดขึ้นหลายแผลในปากด้วย อาจเป็นโรคมือเท้าปากที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสกลุ่มเอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) หรือเชื้อไวรัสลำไส้ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นประปรายตลอดปี แต่จะระบาดมากในช่วงหน้าฝนที่อากาศเย็นและชื้น

ทั้งนี้ นอกจากตุ่มขึ้นแล้ว อาการโรคมือเท้าปากมักจะมีอาการไข้ เจ็บปาก กินอะไรไม่ค่อยได้ น้ำลายไหล มีแผลในปากคล้ายร้อนใน โดยอาการจะหนักในช่วง 2-3 วันแรก และจะค่อย ๆ ทุเลาจนหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์ แต่อย่างไรก็ตาม อาจมีโอกาสเกิดอาการรุนแรงหรือโรคแทรกซ้อนได้ โดยเฉพาะหากผู้ป่วยติดเชื้อ EV 71 (สายพันธุ์รุนแรง) หรือมีภูมิต้านทานต่อโรคค่อนข้างต่ำ ดังนั้นหากต้องสงสัยว่าเป็นโรคมือเท้าปาก ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาอย่างทันท่วงที

ซิฟิลิส

ซิฟิลิส เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่หลายคนรู้จักชื่อกันดี โดยเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Treponema Pallidum ส่วนอาการจะมีผื่นหรือตุ่มขึ้นหลายลักษณะ ร่วมกับอาการอื่น ๆ

อย่างการติดเชื้อระยะแรก จะเห็นเป็นแผลริมแข็ง มีขอบนูนแข็ง แผลไม่เจ็บ ดูสะอาด และมีอาการต่อมน้ำเหลืองโต ต่อมาจะมีผื่นสีแดงน้ำตาลขึ้นที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า หรืออาจพบได้ทั่วตัว ซึ่งผื่นที่ขึ้นจะไม่มีอาการคัน หรืออาจพบผื่นสีเทาในปาก คอ ปากมดลูก และอาจพบหูดในบริเวณที่อับชื้น เช่น รักแร้ ทวารหนัก ขาหนีบ ซึ่งทั้งหมดนี้จะเรียกว่าอาการระยะเข้าข้อหรือออกดอก โดยจะมีอาการราว ๆ 1-3 เดือน และจะหายไปได้เอง แต่ก็กลับมาเป็นใหม่ได้หากติดเชื้อซ้ำอีก

แผลพุพอง

แผลพุพอง จัดเป็นโรคผิวหนังอักเสบติดเชื้อชนิดหนึ่ง อาจเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา หรือเชื้อไวรัสก็ได้ โดยจะมีอาการเป็นผื่นแดงเล็ก ๆ คัน ซึ่งจู่ ๆ ก็ขึ้นมาบนร่างกายอย่างไม่ทราบสาเหตุ และส่วนมากพบผื่นได้ที่ใบหน้า รอบ ๆ จมูก ตามด้วยผื่นที่แขน ขา หากแกะหรือเกาแผลจะอักเสบกลายเป็นตุ่มน้ำพองใส และหากแผลแตกจะมีน้ำเหลืองไหล พื้นแผลเป็นสีแดง และพอแผลแห้งก็อาจเกิดแผลตกสะเก็ดสีเหลืองลามไปพุพองบริเวณอื่นได้ ดังนั้นควรรีบไปพบแพทย์ก่อนอาการจะหนัก

กลาก

โรคกลาก เกิดจากเชื้อรากลุ่มเดอร์มาโตไฟต์ (Dermatophyte) ติดต่อกันง่าย จากสัตว์เลี้ยงอย่างสุนัขและแมวก็เป็นพาหะได้ โดยลักษณะกลากจะเป็นผื่นสีแดง ทรงวงกลมหรือวงแหวนที่ขยายวงกว้างออกไปเรื่อย ๆ และอาจมีตุ่มน้ำใสเล็ก ๆ หรือมีขุยสีขาวบาง ๆ ที่ขอบ ซึ่งจะพ่วงมากับอาการคันมาก ในบางคนอาจเป็นตุ่มหนองด้วย

โดยกลากเกิดขึ้นได้กับหลายส่วนในร่างกาย ทั้งหนังศีรษะ ตามลำตัว ส่วนที่อับชื้นต่าง ๆ เช่น ขาหนีบ ที่เรียกว่าสังคัง นิ้วเท้า ที่เรียกว่าฮ่องกงฟุต หรือที่เล็บก็เป็นกลากได้เช่นกัน และด้วยความที่กลากเป็นโรคที่ติดต่อกันง่าย ดังนั้นควรรีบรักษาให้หายโดยไว จะได้ไม่นำไปติดคนอื่นนะคะ

งูสวัด

งูสวัด เป็นโรคที่เกิดจากไวรัสตัวเดียวกันกับโรคอีสุกอีใส ผู้ป่วยโรคงูสวัดจึงมักจะเป็นหลังหายจากโรคอีสุกอีใสไปแล้วนานเป็นเดือนหรืออาจจะเป็นปี ๆ ในยามที่ร่างกายอ่อนแอ มีภูมิคุ้มกันโรคน้อยลง โรคงูสวัดก็อาจแสดงตัวออกมาทักทาย

ส่วนอาการเริ่มแรกจะปวดแสบร้อนลึก ๆ โดยหาสาเหตุไม่ได้ และอาจมีไข้ร่วมด้วยหลังจากที่ปวดแสบร้อนได้ประมาณ 2-3 วัน หลังจากนั้นจะเริ่มเป็นผื่นแดง ต่อมาผื่นแดงก็จะกลายเป็นตุ่มน้ำใสเต่ง ๆ (รูปร่างคล้ายหยดน้ำกลิ้งบนใบบัว) เรียงกันเป็นกลุ่ม ๆ เป็นแนวยาว ๆ ตามเส้นประสาทของร่างกายเป็นหย่อม ๆ เช่น ตามความยาวของแขน หรือตามความยาวของขา หรือรอบเอว รอบหลัง หรือศีรษะ เป็นต้น ซึ่งตุ่มน้ำใสเต่ง ๆ ของงูสวัดนี้จะแตกออกเป็นแผล ต่อมาก็จะตกสะเก็ด และหายได้เองภายใน 2 สัปดาห์

สะเก็ดเงิน

โรคสะเก็ดเงิน เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรมเป็นพื้นฐาน มีปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกเป็นตัวกระตุ้นให้โรคกำเริบได้ เช่น ภาวะทางจิตใจ ความเครียด ความโกรธ หงุดหงิด ฉุนเฉียว รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับร่างกาย เช่น การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน, การเกิดโรคของอวัยวะภายในต่าง ๆ เช่น โรคตับ โรคไต เป็นต้น

อาการมีหลายลักษณะ ที่พบบ่อยคือ มีผื่นแดงหนา มีขุยละเอียดหรือขุยหนา ๆ สีขาวหรือสีเงินบนแผล แต่ก็มีชนิดที่เป็นตุ่มได้เหมือนกัน โดยมีทั้งแบบตุ่มแดงคล้ายหยดน้ำขนาดเล็กไม่เกิน 1 เซนติเมตร หรือตุ่มหนองกระจายบนผิวหนัง รู้สึกปวดบวม ในรายที่เป็นมากอาจมีไข้ร่วมด้วย

ผดร้อน

ผดร้อน เกิดจากการอุดตันของต่อมเหงื่อ และมักเกิดขึ้นในช่วงที่มีอากาศร้อนจัด โดยส่วนใหญ่จะมีลักษณะเป็นปื้นแดง หรือเป็นตุ่มน้ำใส ๆ ขนาดเล็ก รวมกันเป็นกระจุก สามารถแตกเป็นสะเก็ดได้ง่าย อาจมีอาการคันและแสบหรือไม่ก็ได้ ขึ้นอยู่กับชนิดของผดร้อน แต่หากเกิดการเสียดสีบริเวณที่เป็นผดร้อนก็อาจเกิดการอักเสบหรือติดเชื้อจนกลายเป็นตุ่มหนองได้ ซึ่งควรรีบรักษา เพราะอาจมีอาการแสบคันหนักกว่าเดิม

หัด

หัด เกิดจากเชื้อไวรัส Measles หากติดขึ้นมาแล้วจะมีระยะฟักตัวประมาณ 7-14 วัน จึงเริ่มมีอาการ โดยเริ่มจากไข้ต่ำ ๆ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก ตาแดง ซึ่งไข้อาจจะสูงได้ถึง 41-42 องศาเซลเซียส และหลังจากมีไข้ได้ประมาณ 3 วัน ผู้ป่วยจะเริ่มมีผื่นสีแดงขึ้น โดยเริ่มขึ้นจากศีรษะ ลามลงมาที่ใบหน้า ลำตัวและแขนขา ตามลำดับ ผื่นเหล่านี้อาจมีอาการคันได้บ้าง หลังจากนั้นในรายที่ไม่มีอาการแทรกซ้อน ไข้จะค่อย ๆ ลดลง รวมทั้งผื่นก็จะค่อย ๆ หายไปตามลำดับเหมือนกับตอนที่เริ่มขึ้นมา ทว่าบริเวณใดที่เป็นผื่นมาก ๆ ผิวหนังตรงตำแหน่งนั้นอาจจะลอกหรือเปลี่ยนเป็นสีคล้ำได้

หัดเยอรมัน

แม้จะชื่อคล้าย ๆ กัน แต่โรคหัดเยอรมันจะเกิดจากเชื้อไวรัส Rubella ซึ่งเป็นคนละตัวกับโรคหัดนะคะ ส่วนลักษณะอาการก็จะแตกต่างกันบ้างเล็กน้อย โดยส่วนใหญ่จะเริ่มมีไข้ต่ำ ๆ ไม่เกิน 38 องศาเซลเซียส มีอาการปวดหัว ต่อมน้ำเหลืองที่คอโต ตาแดง ปวดข้อ โดยหลังจากเริ่มมีไข้ได้ 2-3 วัน จะเริ่มมีตุ่มนูนหรือผื่นแดง ๆ เกิดขึ้นที่ใบหน้า จากนั้นจะค่อย ๆ ลามลงไปตามลำตัวและแขน แต่ผื่นจะน้อยกว่าและหายเร็วกว่าหัด เช่น ผื่นที่ใบหน้าเริ่มหายแล้ว จึงเริ่มมีผื่นขึ้นที่­­­แขนและขา

หิด

หิด เป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากการติดเชื้อตัวไรเล็ก ๆ ที่ชื่อว่า Sarcoptes scabiei ซึ่งมาอาศัยอยู่ในรูขุมขน ออกไข่ และฟักเป็นตัวอ่อน ส่งผลให้มีตุ่มนูนแดง ทั้งแบบตุ่มน้ำใสหรือตุ่มหนองตรงรูขุมขนนั้น ๆ ก่อให้เกิดอาการคันรุนแรงโดยเฉพาะในเวลากลางคืน และหากมีใครมาสัมผัสหิดก็จะติดได้ง่าย หรือใช้ของร่วมกับคนที่เป็นหิดก็ติดต่อกันได้ รวมไปถึงการร่วมเพศก็ส่งต่อตัวหิดได้เช่นกัน

หูดข้าวสุก

หูดข้าวสุก (Molluscum Contagiosum) เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม Poxviridae เป็นหูดที่มีลักษณะเป็นตุ่มเล็ก ๆ สีแดง และมีสารคล้ายข้าวสารอยู่ข้างใน ลักษณะเป็นรูปทรงโดมและเห็นเป็นจุดบุ๋มตรงกลาง คล้ายเม็ดสิวแต่ไม่มีการอักเสบ ถ้าบีบก็จะมีสารสีขาวข้นไหลออกมา จึงเรียกกันว่าหูดข้าวสุก ทั้งนี้ หูดข้าวสุกเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย ในเด็กจะพบได้บ่อยบริเวณข้อพับแขน ขา และลำตัว ในผู้ใหญ่จะพบเฉพาะอวัยวะเพศ จึงนับว่าหูดข้าวสุกเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์โรคหนึ่งด้วย

หูดหงอนไก่

หูดหงอนไก่ก็จัดเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เช่นเดียวกัน แต่เกิดจากเชื้อ HPV (Human Papillomavirus) ที่เป็นตระกูลเชื้อต้นเหตุของโรคมะเร็งปากมดลูกด้วย อาการจะเริ่มจากเป็นผื่นสีออกน้ำตาลไปทางชมพู มีลักษณะคล้ายดอกกะหล่ำ หรือแบบหงอนที่หัวไก่ชน เป็นติ่งเนื้ออ่อน ๆ สีชมพู บางคนอาจมีตุ่มนูนเล็ก ๆ แห้ง ๆ คล้ายมีขี้ไคลคลุม บางคนอาจเป็นตุ่มนูนแบน และตุ่มนูนเล็ก หรือมีหลายชนิดปนกัน มีขนาดแตกต่างกัน การเรียงตัวอาจติดกัน หรือกระจายตัวไปทั่ว

โดยหูดหงอนไก่อาจเป็นก้อนเล็ก ๆ จนถึงก้อนโตจนอุดกั้นช่องคลอด ทวารหนัก หรือท่อปัสสาวะเลยก็ได้ บางรายอาจมีเลือดออกมาจากก้น คัน มีการตกขาวผิดปกติ รวมทั้งแสบร้อนที่อวัยวะเพศ ซึ่งหากพบอาการเหล่านี้ควรไปตรวจกับสูตินรีแพทย์โดยด่วน

แพ้ยา

ผื่นแดง คล้ายลมพิษ มีอาการคัน เป็นอาการแพ้ยาที่พบได้บ่อย โดยอาจมีอาการบวมแดงที่ผิวหนัง ตาบวม หน้าบวม ร่วมด้วยได้ และหากแพ้หนัก ๆ อาจมีผื่นขึ้นทั้งตัว โดยเป็นผื่นแดงเป็นปื้น มีตุ่มเล็ก ๆ เป็นตุ่มหนอง หรือตุ่มน้ำพองใส หรือบางรายอาจแสบผิวหนัง ผิวหนังหลุดลอก เป็นต้น

ภูมิแพ้ผิวหนัง หรือโรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ (Atopic Dermatitis)

สำหรับใครที่มีผื่นแดง หรือตุ่มนูนแดงขึ้นบนผิวหนัง และคันมาก หรือมีตุ่มน้ำใสที่พอแตกจะมีน้ำเหลืองไหลเยิ้มออกมาด้วย พอแห้งก็กลายเป็นสะเก็ดแข็งติดผิว ต้องสงสัยไว้ก่อนเลยว่าอาจเป็นโรคภูมิแพ้ผิวหนัง และหากเป็นเรื้อรัง ผิวตรงนั้นจะมีลักษณะเป็นแผ่นหนา แข็ง มีขุย โดยในผู้ใหญ่จะพบมากในบริเวณข้อพับแขน ข้อพับขา คอ ใบหน้า และผิวหนังที่มีการเสียดสีมาก ๆ แต่ในเด็กจะพบได้มากบริเวณใบหน้าและศีรษะ

โรคนี้เกิดได้จากกรรมพันธุ์ หรือเป็นคนที่มีผิวแพ้ง่ายเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เช่น เมื่อเจอละอองเกสร สภาพอากาศร้อนจัด เหงื่อออก หรือเย็นจัดจนผิวแห้งแตก หรือเปลี่ยนยี่ห้อสบู่ แชมพู ผงซักฟอก ก็จะทำให้เกิดอาการระคายเคืองผิว คัน หรือมีผื่นตุ่มที่ผิวหนังได้

ผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มน้ำ (Dyshidrotic eczema)

จัดเป็นโรคผิวหนังอักเสบชนิดหนึ่งที่มักเป็น ๆ หาย ๆ เกิดได้จากปัจจัยกระตุ้นเร้าอย่างการแพ้สารสัมผัส เช่น แพ้น้ำหอม แพ้สารเคมีจากผลิตภัณฑ์ที่ใช้ แพ้สารกันบูด แพ้นิกเกิล หรือปัจจัยความเครียด การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ สภาพอากาศ รวมไปถึงการมีภูมิคุ้มกันต่ำ ทำให้ติดเชื้อแบคทีเรียก่อโรคได้ง่าย

โดยลักษณะอาการจะมีตุ่มใส ๆ แข็ง ๆ บริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า ด้านข้าง ๆ นิ้วมือ นิ้วเท้า ซึ่งแรก ๆ ตุ่มอาจจะมีขนาดเล็ก แต่นาน ๆ ไปอาจขยายใหญ่ขึ้นมาหลายเซนติเมตรได้ ร่วมกับมีอาการคัน และน้ำใส ๆ จะเปลี่ยนเป็นหนองจากการติดเชื้อ สุดท้ายผิวหนังบริเวณที่เป็นตุ่มน้ำจะแห้ง ตกสะเก็ด และลอกเป็นแผ่นหนา ๆ ออกไปได้

โรคตุ่มน้ำพอง เพมฟิกัส (Pemphigus)

โรคเพมฟิกัส มีชื่อไทยว่า โรคตุ่มน้ำพองจากภูมิคุ้มกัน ซึ่งเกิดจากภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานผิดปกติ โดยสร้างแอนติบอดีขึ้นมาทำลายการยึดของเซลล์ผิวหนัง ทำให้ผิวหนังเกิดการแยกตัวในชั้นหนังกำพร้า หรือบริเวณรอยต่อของหนังกำพร้าและหนังแท้ จนเกิดเป็นตุ่มน้ำพองขึ้นที่ผิวหนังหรือเยื่อบุต่าง ๆ ของร่างกาย (โดยส่วนมากมักพบแผลในช่องปาก)​ อย่างไรก็ตาม โรคตุ่มน้ำพองอาจเกิดจากพันธุกรรมและปัจจัยสิ่งแวดล้อม เช่น เชื้อโรค หรือสารเคมีร่วมด้วย

ส่วนลักษณะตุ่มน้ำพองอาจพบเป็นผื่นแดงขึ้นตามผิวหนังก่อน จากนั้นจะเป็นตุ่มน้ำพองใส สามารถแตกออกได้ง่าย และเมื่อตุ่มใสแตกแล้วจะขยายออกเป็นวงกว้าง เป็นแผลถลอก โดยอาจมีสะเก็ดน้ำเหลืองให้เห็นด้วย อีกทั้งจะเจ็บและแสบมาก ๆ หากตุ่มใสแตก ทว่าเมื่อแผลหายแล้วจะไม่เป็นแผลเป็นนะคะ เพียงแต่อาจเป็นรอยดำ ๆ อย่างชัดเจน และโชคไม่ดีด้วยที่โรคนี้จะเป็นอย่างเรื้อรัง ดังนั้นหากพบสัญญาณของโรค ควรรีบไปปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษาแต่เนิ่น ๆ

สรุป

อย่างไรก็ตาม ตุ่มที่ขึ้นบนผิวหรือผื่นตามผิวหนังอาจบอกได้อีกหลายโรคที่เราไม่ได้กล่าวถึง เพราะสาเหตุของการเกิดมีหลากหลายมาก ๆ ดังนั้นหากพบตุ่มหรือผื่นที่ไม่รู้ที่มา และลองรักษาเองแล้วไม่หาย แนะนำให้ไปพบแพทย์ผิวหนังเพื่อวินิจฉัยอาการจะดีกว่า

แนะนำผลิตภัณฑ์

EAZI Astrinz Gel เจลสมานผิว เริม งูสวัด PAN Pcosmed ศูนย์รวมโซลูชั่นด้านผิวหนังครบวงจร

EAZI Astrinz Gel เจลสมานผิว เริม งูสวัด